วัด เที่ยววัดกัน

ความเชื่อเรื่อง “พระพิฆเนศ” องค์บรมครูแห่งศิลปะทั้งมวล

“พระพิฆเนศ” ได้รับการยอมรับจากเหล่าทวยเทพให้เป็นปฐเมศ หรือ เทพองค์แรกที่ได้รับการเคารพก่อนมวลหมู่เทพอื่น ๆ

คนไทยรู้จักเทพเจ้าองค์นี้เพราะนับถือศรัทธาในฐานะองค์บรมครูแห่งศิลปวิทยาการ 18 ประการ หรือเรียกได้ว่าเป็นเทพแห่งศิลปะทั้งมวล และเป็นเทพองค์สำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระพิฆเนศเป็นเทพองค์แรกที่ต้องบูชาก่อนเริ่มพิธีกรรมใดๆ เพื่อเป็นการคารวะในฐานะบรมครูผู้ประสาทปัญญาและความสำเร็จ รวมทั้งพระองค์สามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวงให้หมดสิ้นไป

กำเนิด “พระพิฆเนศ”

พระองค์ถือกำเนิดมาจากเหงื่อไคลและแรงอธิษฐานของพระแม่ปารวตีหรือพระอุมาผู้เป็นมเหสีของพระศิวะ แต่ในยามที่เทพองค์น้อยนั้นถือกำเนิดมา เป็นช่วงเวลาที่พระศิวะไม่อยู่ที่เขาไกรลาส พระพิฆเนศจึงไม่เคยรู้จักพระศิวะผู้เป็นบิดาเลย วันหนึ่งขณะที่พระแม่ปารวตีกำลังสรงน้ำ โดยสั่งให้พระพิฆเนศคอยเฝ้าภายนอกไว้ไม่ให้ผู้ใดบุกรุกเข้ามา ก็เป็นเวลาเดียวกับที่พระศิวะเสด็จกลับมา จึงถูกพระพิฆเนศขัดขวางไว้มิให้ล่วงล้ำเข้าไปด้านใน ทำให้พระศิวะมีโทสะและเกิดการต่อสู้กันอย่างดุเดือดจนพระพิฆเนศถูกพระศิวะใช้ตรีศูลตัดเศียรขาดสิ้นชีพไป

เมื่อพระแม่ปารวตีทราบเรื่องเข้าก็ทั้งโศกเศร้าและกริ้วเป็นที่สุด พระนางต่อว่าพระศิวะอย่างรุนแรงที่สังหารบุตรชายของนาง พระศิวะเมื่อได้ทราบว่าเด็กที่ตนสังหารนั้นเป็นลูกก็รีบหาทางชุบชีวิตให้ฟื้นคืน แต่เนื่องจากเศียรของพระพิฆเนศนั้นไม่เหลืออยู่แล้ว องค์ศิวะจึงส่งตรีศูลออกไปหาศีรษะอื่นมาต่อให้ทันเวลา โดยศีรษะที่ได้กลับมาคือหัวของช้าง

หลังจากคืนชีพให้พระพิฆเนศแล้ว พระศิวะยังได้ประทานพรให้ด้วยว่า ในการประกอบพิธีทั้งหลายทั้งปวง จะต้องมีการทำพิธีบูชาพระพิฆเนศก่อน เพื่อให้เกิดความสัมฤทธิผลของพิธีการนั้นๆ แม้พระพิฆเนศจะเป็นเทพในร่างวัยเยาว์ แต่ก็มีพลังอำนาจล้นเหลือ ที่สำคัญทรงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดยิ่งนัก ดังเช่นตำนานตอนหนึ่งที่ว่า คราหนึ่งพระนางปารวตีได้นำผลมะม่วงมาถวายพระศิวะหนึ่งผล แต่ปรากฏว่าโอรสทั้งสองคือ พระคเณศและพระขันฑกุมารโอรสองค์โต อยากกินมะม่วงผลนั้นด้วยกันทั้งคู่ พระศิวะจึงทดสอบสติปัญญาของโอรสทั้งสอง ด้วยบททดสอบว่าหากผู้ใดเดินทางได้รอบโลกครบ 7 รอบและกลับสู่วิมานได้ก่อน โอรสผู้นั้นก็จะได้รับผลมะม่วงไป

พระขันฑกุมารรีบขี่นกยูงพาหนะของตนเหาะออกไปโดยเร็ว แต่พระพิฆเนศกลับเดินประทักษิณรอบพระบิดา 7 รอบ แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่พระบิดา พระองค์คือจักรวาล และจักรวาลคือพระองค์ พระองค์ผู้สร้างโลกและทรงเป็นบิดาแห่งข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ทำประทักษิณรอบพระองค์เจ็ดรอบ ถือว่าเท่ากับได้เดินทางรอบโลกเจ็ดรอบแล้วเช่นเดียวกัน” พระศิวะได้ฟังดังนั้นก็ยินดีในคำตอบและความชาญฉลาดของพระพิฆเนศยิ่งนัก

สำหรับของที่ใช้ในการบูชา “พระพิฆเนศ” ห้ามใช้เนื้อสัตว์ทุกชนิด ให้ถวายผลไม้ที่สุกแล้วเป็นหลัก เช่น อ้อย น้ำอ้อย นมวัว ขนมโมทกะ (หรือขนมต้มแดง ขนมต้มขาวของไทย) หรือขนมหวานลาดูป ตลอดจนข้าวสาร เกลือ พืช ผัก งา สมุนไพร ธัญพืชและเครื่องเทศก็สามารถใช้ถวายได้

พระพิฆเนศทั้ง 32 ปาง ลักษณะและความหมายตามภาพด้านล่าง

ที่มา : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1347911

ใส่ความเห็น